After Action Review หรือเรียกสั้นๆว่า AAR เป็นเครื่องมือหนึ่งในการทบทวนเพื่อปรับปรุง พัฒนางาน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 1970 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้มีการพัฒนาขึ้นในการเรียนรู้ ถอดบทเรียนทางการทหาร นำไปสู่การทบทวนภารกิจและพัฒนาขีดความสามารถในการรบซึ่งประสบความสำเร็จในสงครามอ่าวเปอร์เซียและอีกหลายสมรภูมิ และเริ่มนำมาปรับใช้ในกระบวนงานทั่วไป จึงขอเสนอ 6 ขั้นตอนการทำ AAR อย่างง่าย เพื่อใช้ในการทำงานต่างๆ
After Action Review หรือเรียกสั้นๆว่า AAR เหมาะสำหรับงานที่มีกระบวนการหรือขั้นตอนที่ชัดเจน มีการปฏิบัติได้สักระยะหนึ่งสามารถมีข้อมูลมาวิเคราะห์ได้พอสมควร มีประโยชน์สำหรับคนที่ประสบปัญหาเช่นงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด เกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน ขาดทุน หรือภัยคุกคามอื่นๆ จะเห็นได้ว่าใช้ได้กับทุกเรื่อง
6 ขั้นตอนการทำ AAR อย่างง่าย ใช้เวลาในการทำกิจกรรม 45-60 นาที มีผู้นำกิจกรรม ผู้บันทึก ผู้เล่าเรื่องและผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง 6 ขั้นตอนการทำ AAR อย่างง่าย มีรายละเอียดดังนี้
- นำกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานที่จะทบทวนมากางให้ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ทำความเข้าใจ
2. เริ่มต้นโดยผู้ที่เป็นผู้นำกิจกรรม AAR อย่างง่าย อธิบายถึงเป้าหมายของการทำกิจกรรม ผลที่คาดว่าจะได้รับหลังจากทำกิจกรรม บอกกฏกติกาสำคัญคือทุกคนแสดงความเห็นได้อิสระ ไม่หาคนทำผิดพลาดแต่จะช่วยกันหาขั้นตอน/สาเหตุที่ผิดพลาดและช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว
3. ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าถึงกระบวนการ/ขั้นตอนการปฏิบัติงานจริงให้ทุกคนได้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดโอกาสให้ซักถาม ข้อสงสัยได้เป็นระยะ
4. ผู้นำกิจกรรม AAR อย่างง่าย เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น อภิปรายถึงกระบวนการหรือขั้นตอนใดที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น สาเหตุเกิดจากอะไร อาจใช้เครื่องมือแผนภูมิก้างปลา เข้ามาช่วยหารากเหง้าของปัญหา หรือเครื่องมืออื่นตามความถนัด
5. ผู้นำกิจกรรม AAR อย่างง่าย สรุปประเด็นกระบวนการหรือขั้นตอนที่เกิดปัญหา และสาเหตุของการเกิดปัญหา รวมถึงวิธีการปรับปรุงแก้ไขให้ทุกคนได้รับทราบและเห็นพ้องต้องกัน ไม่ควรจะจบลงด้วย ความผิดพลาดของมนุษย์(Human Error)
6. ผู้นำกิจกรรม AAR อย่างง่าย ร่วมกันจัดทำ/ปรับปรุงกระบวนการหรือขั้นตอนที่มีปัญหา พร้อมทั้งออกแบบกระบวนการหรือขั้นตอนขึ้นมาใหม่ ส่วนใหญ่มี 2 ประเด็นสำคัญคือลดหรือเพิ่มขั้นตอนเพื่อแก้ไขปัญหานั้นๆและประกาศให้ทุกคนทำความเข้าใจและนำกระบวนการหรือขั้นตอนนั้นไปปฏิบัติและมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งรายเดือน หรือรายไตรมาส
จะเห็นได้ว่า 6 ขั้นตอนการทำ AAR อย่างง่าย เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปรับปรุงและพัฒนางานประจำ สิ่งที่พึงระวังคือบรรยากาศในการทำกิจกรรมต้องเป็นอิสระ ไม่มีอคติต่อกัน เคารพในความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยกันแก้ไขปัญหาให้หมดไป