หลายท่านคงปวดหัวแทบจะกินไม่ได้ นอนไม่หลับเมื่อใกล้ถึงเวลาต้องเตรียมรับการประเมินคุณภาพ คงคุ้นเคยคำว่า 3 P (Purpose, Process, Performance) ที่ต้องเตรียมตอบอาจารย์ผู้มาเยี่ยมสำรวจ ครั้งนี้ขอแนะนำการทำ 3 P อย่างง่าย เพื่อให้ท่านหลายคนเกิดความมั่นใจและสามารถใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
- อันดับแรกต้องมีชื่อหัวข้อ(Topic) ในกิจกรรมนั้นเสียก่อน ซึ่งได้มาจากการค้นหาปัญหา อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้น พันธกิจหรือนโยบาย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนั้น นำมาตั้งชื่อหัวข้อในการพัฒนา
- อันดับต่อมาให้ตั้งเป้าหมาย (Goal)ในหัวข้อนั้นๆว่าสิ่งที่อยากจะเห็น(วัตถุประสงค์)ในลักษณะที่ดีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณหรือเชิงคุณภาพ ในมิติของ KAP (Knowledge, Attitude, Practice)หมายความถึงหากได้รับ KAP อย่างสมบูรณ์แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และระบุกลุ่มเป้าหมาย(Target) ให้ชัดเจนว่าจะทำกับคนกลุ่มไหน(Who) ยกตัวอย่างเช่น
Topic:พัฒนารูปแบบการนัดแบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว
Purpose:
1.มีรูปแบบการนัดที่มีประสิทธิภาพ
2.ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการวางแผนการนัด
3.ผู้ป่วยไม่มาตามนัดน้อยลง
4.ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจในรูปแบบการนัด
3. ออกแบบกระบวนการ (Process) เป็นขั้นตอนหรือกระบวนการในการแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเรียงลำดับความสำคัญ อะไรต้องดำเนินการก่อน-หลัง ในแต่ละขั้นตอน(Process)ควรระบุตัวชี้วัดเพื่อสามารถวัดและประเมินย้อนกลับได้ ยกตัวอย่าง
Topic:พัฒนารูปแบบการนัดแบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว
Process:
1.ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน
2.ทบทวนกระบวนการนัดผู้ป้วยโดยทีมที่เกี่ยวข้องเพื่อค้นหาปัญหา และปรับปรุงแก้ไข
3.ออกแบบหรือพัฒนารูปแบบการนัดโดยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว
4.นำรูปแบบที่พัฒนาไปใช้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด
5.ติดตาม ประเมินผล
4.ระบุผลลัพธ์(Performance) มีอย่างน้อย 2 ระดับคือ Outcome , Ultimate outcome หมายความถึงผลลัพธ์ที่สะท้อนความสำเร็จของแต่ละ process และ ผลลัพธ์ที่ตอบสนองและบ่งชี้ความสำเร็จสูงสุดของหัวข้อนั้นๆ ตัวอย่าง
Topic:พัฒนารูปแบบการนัดแบบมีส่วนร่วมของผู้ป่วยและครอบครัว
Performance:
1.มีรูปแบบการนัดที่มีประสิทธิภาพ (จำนวนรูปแบบการนัดฯ 1 รูปแบบ)
2.ผู้ป่วยและครอบครัวมีส่วนร่วมในการวางแผนการนัด (ร้อยละของผู้ป่วยและครอบครัวที่มีส่วนร่วมในการวางแผนการนัด ค่าเป้าหมายที่ ร้อยละ 80)
3.ผู้ป่วยไม่มาตามนัดน้อยลง (อัตราการไม่มาตามนัด ไม่เกิน ร้อยละ 5)
4.ผู้ป่วยและครอบครัวมีความพึงพอใจในรูปแบบการนัด (ร้อยละความพึงพอใจฯ 80)
การใช้หลัก 3 P ในการพัฒนาหรือปรับปรุงงานหรือใช้ในการดำเนินชีวิตเป็นตัวเลือกหนึ่งที่สามารถจะยกระดับการทำงานให้มีความสมดุลมากขึ้น การเรียนรู้และใช้ประโยชน์โดยการลงมือทำบ่อยๆ จะช่วยให้เรามีความมั่นใจ และเข้าใจในหลัก 3 P มากกว่าการท่องจำ หากวันใดวันหนึ่งเราจำไม่ได้การท่องจำก็ไร้ประโยชน์ สู้ลงมือทำแล้วสิ่งที่เราทำมันจะติดตัวเราไปตลอดชีวิต